ทำยังไงให้เราเป็นคนที่ตัดสินใจได้ดีขึ้น

ใครที่มีเรื่องยากๆ ไม่รู้จะตัดสินใจยังไงดี ตัดสินใจไม่ได้ โพสนี้มีคำตอบ

ทำยังไงให้เราเป็นคนที่ตัดสินใจได้ดีขึ้น
เวลาตัดสินใจไม่ได้จะทำยังไงนี้ โพสนี้มีคำตอบ

มีคนมาถามพลอยหลายครั้งว่าพี่พลอยตัดสินใจยังไง? จะรู้ได้ยังไงว่าสิ่งที่เราตัดสินใจนั้นมันดีแล้ว ทำยังไงให้เราสามารถเลือก choice ที่ดีที่สุด

ซึ่งปกติถ้าให้ตอบไวๆก็คงจะตอบว่า

"ถ้าพี่รู้ชัดๆว่าควรเลือกอะไรแล้วจะเกิดอะไรขึ้น พี่ไปเป็นหมอดูแล้วจ้า"

ล้อเล่นคับ =o="

ปกติแล้วพลอยจะพยายามทำความเข้าใจให้ตัวเองมั่นใจก่อนประมาณ 60-70% และใช้ Gut feeling ในส่วนที่เหลือในการตัดสินใจ แต่..

แล้วไอ 60-70% ของนั้นคิดยังไงคิดมาจากอะไร?

.

.

ซึ่งตอนนี้เอง ก็เป็นช่วงที่พลอยกำลังตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆในชีวิตเหมือนกัน

แล้วก็ติดกับดักตัวเองมาซักพัก ก็เลยถือโอกาสนี้ มานั่งตกผลึกจริงๆจังๆ แล้วเอาสิ่งที่พลอยศึกษามาเพื่อทำให้เราตัดสินใจอะไรในชีวิตกันได้ดีขึ้น

(หมายเหตุ : เนื้อหาต่อไปนี้ ประกอบไปด้วย อนัญญาคิดเอง ซึ่งไม่ขอคอนเฟิร์มว่าถูกหรือผิด ความเห็นส่วนตัวล้วนๆ และประกอบมาจากหนังสือที่เคยอ่านหลายๆเล่ม แปะ ref. ไว้ข้างล่าง)

คำเตือน : content นี้ยาวโคตรๆ

.

ขอแบ่งเนื้อหาเป็นตามนี้

  1. ตัดสินใจที่ถูกต้อง ≠ ผลลัพท์ที่ดี
  2. ทำไมเราถึงตัดสินใจไม่ได้ซักที
  3. คนเรามีวิธีตัดสินใจยังไงอยู่?
  4. เราจะตัดสินใจให้ดีขึ้นยังไง?
  5. ข้อควรระวังในการตัดสินใจ
  6. ตัดสินใจเก่งอาจจะไม่พอ
  7. บทสรุป

หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อใครที่กำลังต้องตัดสินใจปัญหาอะไรยากๆในชีวิต และคนที่อยากฝึกเป็นคนที่กล้าตัดสินใจอะไรให้ดีขึ้นนะคับบ ลุยย


ตัดสินใจที่ถูกต้อง ≠ ผลลัพท์ที่ดี

สำหรับคนที่อยากตัดสินใจให้ดีขึ้น สิ่งแรกที่ทุกคนควรเข้าใจก่อน คือ

ไม่ว่าเราจะเลือกตัดสินใจดีที่สุดแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะได้ผลลัพท์ที่ดีตามที่ตั้งใจไว้

เพราะฉะนั้น เราต้องแยกเรื่องการตัดสินใจ กับผลลัพท์ออกจากกันก่อน

thinking in bet : ผลลัพท์ = การตัดสินใจที่ดี + ความสามารถ + โชค

.

ตัวอย่าง

  1. พลอยลงเงินเก็บเข้าไปในเหรียญ cryto โดยไม่มีความรู้ แต่โชคดีเหรียญนั้นโต x10 ทำให้ได้กำไรบานเบอะ
  2. พลอย ได้รับโอกาสให้ไปทำงานต่างประเทศ เงินดี งานดี บริษัทดี มีโอกาสเติบโต เลยตัดสินใจลาออกจากงานที่ไทยไป ปรากฏว่าผ่านไป 3 เดือน เกิดเหตุการ์ณไม่คาดฝันบริษัทพังโดน layoff แบบไม่มีเงินชดเชยจ่าย กลับมาตกงานที่ไทย

คำถาม????

การที่พลอยเลือกลงทุนแบบนี้ เป็นการตัดสินใจที่ถูกหรือไม่? และการที่พลอยเลือกไปทำงานต่างประเทศนั้น เป็นการที่ตัดสินใจผิดรึเปล่า?

แล้วจะ define ได้ยังไง ว่าการตัดสินใจอันไหนถูกหรือผิด?

.

พลอยค้นพบว่าจริงๆแล้ว มันไม่มีการตัดสินใจที่ถูกหรือผิด

เพราะว่ามันจะถูกหรือผิด มันก็ขึ้นอยู่กับว่า เรามองมันที่เวลาไหน

เช่น ถ้ามองในเวลานั้นเลย อาจจะตอบได้ว่า พลอยเลือกผิดที่ไปทำงานต่างประเทศ แต่ว่าถ้าผ่านไป 1 ปี พลอยได้งานใหม่ที่ต่างประเทศที่เริ่ดกว่าเดิม เพราะว่าเคยมีประสบการ์ณทำงานเมืองนอกมาก่อนหล่ะ จะถือว่าการตัดสินใจนั้นผิดอยู่รึเปล่า?

outcome วัดที่ timeframe แบบไหน??

เพราะฉะนั้น

เราไม่มีทางรู้เลย ว่าการตัดสินใจอันไหนคือการตัดสินใจที่ดีกว่า

สิ่งที่เราทำได้คือการตัดสินใจให้ดีที่สุดในเวลานั้นๆ

พอเรารู้แล้วว่าเราไม่มีทางรู้ว่าการตัดสินใจไหนถูกต้อง ขั้นต่อไปที่พลอยทำคือวิเคราะห์ตัวเอง ว่าทำไมยังตัดสินใจไม่ได้


ทำไมเราถึงตัดสินใจไม่ได้ซักที?

ปัญหาใหญ่ของการตัดสินใจ คือการไม่ตัดสินใจ

ปกติแล้วพลอยเป็นคนตัดสินใจอะไรไวมากๆ แต่พอมาวันนี้กลับมีเรื่องที่ทำให้พลอยติด คิดวนไปวนมาเป็นเดือนๆ แล้วก็เลยค้นพบว่า

พลอยเลยลิสออกมา ว่าอะไรบ้างนะที่ทำให้พลอยตัดสินใจไม่ได้

  • ความไม่ชัดเจนในผลลัพท์ที่ต้องการ
  • ข้อมูลไม่มากพอ
  • option ต่างๆ มีความใกล้เคียงกันมากเกินไป
  • มันเป็นสิ่งที่เทียบกันยาก
  • mental stage ที่ไม่พร้อม

ความไม่ชัดเจนในผลลัพท์ที่ต้องการ

บางทีเรายังไม่ชัดเลยว่าเราจะเลือกอะไรไปเพื่ออะไร มองยังไม่เห็นปลายทาง ก็ทำให้ตอบไม่ได้ว่าเราควรเลือกทางไหนมากกว่ากัน

เช่น อยากทำธุรกิจ แต่เลือกไม่ได้ว่าจะทำอะไรดี ปลายทางที่ต้องชัดคือ อยากทำธุรกิจไปทำไม? ภาพที่อยากเห็นสุดท้ายเป็นแบบไหน?

บางคนบอก อยากมีลูกน้องเป็น 100 คน บางคนอาจจะอยากเดินทางไปทั่วโลก สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราเริ่มตัด choice ต่างๆออกไปได้ ว่า choice เหล่านั้นนำไปสู่ปลายทางที่ต้องการได้รึเปล่า ยากง่ายขนาดไหน?

ถ้าเราชัดเจนในเป้าหมายของเรา เราจะเริ่มตัดตัวเลือกได้ง่ายขึ้น

.

ข้อมูลไม่มากพอ

เวลาเราจะตัดสินใจ เราจำเป็นต้องมีข้อมูลบางอย่างมาประกอบ เช่น มีคนมาจีบ 3 คนจะเลือกคนไหนดี? ถ้าอยู่ดีๆโผล่เข้ามาโดยไม่รู้อะไรเลย เราก็คงตัดสินใจไม่ได้ เราก็จำเป็นต้องหาข้อมูล หรือทดลองไปเดท ทดลองคุย เพื่อที่จะได้ข้อมูลมากพอต่อการตัดสินใจ

พลอยเองก็เลือกไม่ได้ว่าพลอยจะเลือกทำอะไรต่อ เพราะเราไม่รู้ว่าเลือกแต่ละทางไปจะเกิดอะไรขึ้น เรื่องบางเรื่องจะไม่สามารถหาข้อมูลได้มากขนาดนั้น ถ้าไม่ได้ทดลองทำ

ถ้ามันหาข้อมูลไม่ได้แล้ว ก็ต้องรู้ตัวว่าต้องตัดสินใจจากข้อมูลเท่าที่มีให้ดีที่สุด

.

option ต่างๆ มีความใกล้เคียงกันมากเกินไป

จาก hick's law ยิ่งตัวเลือกยิ่งเยอะ คนยิ่งเลือกไม่ได้

เพราะเวลาเปรียบเทียบแล้ว มันจะมีสิ่งที่ใกล้ๆกันมากเกินไป เช่น ผู้หญิงเลือกลิปสติก ที่เลือกไม่ได้เพราะมันใกล้เคียงกันมากๆ เลือกอันไหนไปก็อาจจะมีผลลัพท์ที่ไม่ได้ต่างกันมากขนาดนั้น เพราะฉะนั้นเลือกๆไปเถอะ

ทาสีไหนดี?

.

มันเป็นสิ่งที่เทียบกันยาก

สำหรับพลอยอันนี้คือแก้ยากสุด บางอย่างมันสามารถเปรียบเทียบกันได้อย่างชัดเจน เช่น จะเลือกทำงานที่ A หรือ B เงินเดือน สวัสดิการ ออฟฟิศใกล้ไกลแค่ไหน เวลาทำงานต่อวัน สิ่งเหล่านี้เป็นอะไรที่เปรียบเทียบได้ชัดเจน

แต่ ...

เวลามันเลือกยากๆ มันจะเป็นการเลือกระหว่างสองอย่างที่หน่วยวัดไม่เหมือนกัน

เช่น เราคงไม่เอาเลือกคู่ชีวิต จากการดูว่าคนไหนเงินเดือนเยอะกว่ากัน เพราะต่อให้เงินเดือนเยอะแต่คุยแล้วไม่ชอบ ก็คือไม่ชอบ

แล้วยิ่งถ้าเป็นบริบทที่ต่างกัน มาตราวัดก็ไม่เหมือนกันไปด้วย แล้วจะยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เช่น เลือกระหว่าง ไปทำงานที่ต่างประเทศตามที่ตัวเองใฝ่ฝัน หรือ ทำงานใกล้ๆบ้านเพื่อจะอยู่ดูแลพ่อแม่?

.

mental stage ที่ไม่พร้อม

เราจะไม่สามารถคิดทุกข้อที่ผ่านมาออกได้เลย

ถ้าสมองจิตใจเราไม่ได้อยู่ในสภาวะที่ปกติ

สิ่งนึงที่พลอยสังเกตุเห็นมากๆ คือคนที่ success ทุกคนพูดถึงเรื่อง mindfulness กันหมด คือการทำยังไงก็ได้ให้สมองอยู่ในสภาวะที่ทำงานได้ดีและมีโฟกัส

.

.

ด้วยทั้งหมดนี้ พลอยค้นพบว่า การตัดสินใจมันจะไม่ได้ยากขนาดนั้นต่อให้ไม่ได้มีอะไรที่ชัดเจน ถ้าเกิดการตัดสินใจของเรานั้นมันหวนกลับได้

เพราะฉะนั้น การตัดสินใจที่ยากและทำให้เราตัดสินใจไม่ได้ทั้งหมด มักจะเป็นอะไรที่ irreversible เพราะเราไม่สามารถลอง option อื่นๆ ได้อีกแล้ว

บังเอิญเรื่องที่พลอยต้องตัดสินใจนี้มัน irrevesible ซะด้วยสิ!

เอ้า แล้วต้องทำยังไงอะ???


คนเรามีวิธีตัดสินใจยังไง?

อย่างแรก พลอยต้องเข้าใจตัวเองก่อนที่จะตัดสินใจอะไรไปแบบไวๆ

เรามาเข้าใจวิธีการที่เราใช้ตัดสินใจกันก่อน

สมองเราชอบตัดสินอะไรแบบง่ายๆ

จากหนังสือ Predictably Irrational

ทุกคนอาจจะคิดว่าตัวเองเป็นคนมีเหตุมีผล แต่โดยพื้นฐานแล้ว คนส่วนใหญ่ตัดสินใจอะไรแบบไม่ได้เป็นเหตุผลที่ถูกต้องขนาดนั้น เพราะเราเจอกับดักบางอย่าง ทำให้เหตุผลที่ถูกต้องมันหายไป

เช่น คนส่วนใหญ่จะเลือกซื้อยาพาราราคา 20 บาท แทนที่จะเป็นยาพาราราคา 5 บาททั้งๆที่ส่วนผสมแทบจะเหมือนกัน เพราะเราเชื่อว่า ยาราคา 20 บาทน่าจะมีคุณภาพที่ดีกว่า (ซึ่งไม่จริงเสมอไป)

(ไม่ได้อ่านเล่มนี้นานมากๆแล้ว หาไม่เจอแล้วด้วยแต่จำได้ว่าดีมากๆ)

.

จริงๆพลอยกำลังเลือกอยู่ว่าพลอยอยากจะใช้ชีวิตในปีต่อจากนี้แบบไหน?

อะไรคือสิ่งที่พลอยอยากทำจริงๆกันแน่

ถ้าเอาตามอารมณ์ล้วนๆ สิ่งแรกที่ขึ้นมาในหัวคือ "พลอยอยากไปวาดรูป อยากไปเป็น Artist"

ซึ่งไม่ว่าจะปรึกษาใคร ทุกคนก็ต่อต้านหนทางนี้ของพลอยทั้งนั้น

ด้วยความที่เป็น MBTI- ENTP (debater) ความชอบโต้ประเด็นต่างๆมันอยู่ในสายเลือด กลายเป็นว่า พลอยสามารถหาเหตุผลมา Support ทุกอย่างที่พลอยอยากทำได้หมด

พลอยเลยค้นพบว่า

เราใช้ความรู้สึกตัดสินใจ และ เอาเหตุผลมา support การตัดสินใจของเราอีกที

ด้วย Life Goal แล้วจริงๆแล้ว การไปเป็น Artist มันใช้สิ่งที่พลอยควรจะทำตอนนี้จริงๆรึเปล่า?? มันตอบโจทย์กับสิ่งที่พลอยต้องการไหม?

.

อันนึงที่น่าสนใจอยากเอามาแชร์เพิ่มเกี่ยวกับเรื่องการตัดสินใจของเราคือ การไม่ได้ตัดสินใจอะไรจริงๆ แต่ปล่อยชีวิตไปตาม auto pilot โหมด

(เพราะว่ารู้ตัวว่าค่อนข้างจะ autopilot เยอะพลอยเลยเริ่มมาคิดจริงจังว่าจะทำอะไรจนเกิดคอนเทนท์นี้ขึ้นมา)

ก็เลยอยากมาแชร์คอนเซ็ปของ Thinking Fast and Slow

ถ้าตามหนังสือ thinking fast and slow แล้ว จะแบ่งวิธีใช้สมองเราเป็น 2 systems

system 1 : คือระบบที่ทำงานอัตโนมัติ (สัญชาตญาณ)

system2 : คือระบบที่เราต้องพยายามควบคุม มีการคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราขับรถบนถนนที่คุ้นเคย ระบบ 1 จะควบคุมการขับขี่โดยอัตโนมัติ แต่ถ้าเจอกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น รถเฉี่ยวชน ระบบ 2 จะเข้ามาทำงานเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และตัดสินใจว่าจะทำยังไงต่อไป

ซึ่งแน่นอนอย่างที่บอกว่า สมองเราชอบอะไรง่ายๆ คนเราจึงใช้ชีวิตส่วนใหญ่รันด้วย system1 ก็คือตัดสินใจด้วยสัญชาตญาณ

แล้วสัญชาตญาณเกิดจากอะไรหล่ะ??

ตอบ : ประสบการณ์

ซึ่งก็ไม่ใช่ว่ามันจะถูกต้องเสมอไป ถ้าพลอยเลือกทำอะไรแบบเดิมๆ สมองพลอยจะทำงานด้วย system1 เยอะเป็นพิเศษเพราะว่ามันเคยชินไปแล้ว

การที่พลอยเข้าใจเรื่องการตัดสินใจของมนุษย์ ทำให้พลอยมี self-aware มากขึ้น

ก็เลยแทนที่จะตัดสินใจผ่ามๆ ตามอารมณ์ และสัญชาตญาณลองของใหม่ของพลอย มาวิเคราะห์จริงจังกันไปเลยดีกว่า ว่าควรไปทางไหน

แล้วจะเลือกให้ดีได้ยังไงหล่ะ??


เราจะตัดสินใจให้ดีขึ้นได้ยังไง?

พลอยชอบที่หนังสือเล่ม thinking in bet บอกเกี่ยวกับ การตัดสินใจ คือ

ทุกการตัดสินใจคือการพนัน

เพราะฉะนั้น ให้มองวิธีการตัดสินใจให้เหมือนการเล่น Poker

ยิ่งเรามีความสามารถในการตัดสินใจได้ดีขึ้นในระยะยาว เราก็จะมีโอกาสเข้าสู่ความสำเร็จได้มากขึ้นเท่านั้น

.

จะฝึกการตัดสินใจให้ดีขึ้นก็คือต้องฝึกใช้ system2 ในการตัดสินใจ คืออย่ารีบ ใช้เวลาคิดทบทวนกับมันหน่อย

ว่าแต่ไอทีเราต้องฝึกมันคืออะไร? อย่างแรก

ชัดก่อน ว่าปลายทางคืออะไร?

ถึงแม้จะยังเห็นไม่ได้ชัด 100% แต่ว่า condition ที่เราคิดออกให้แปะออกมาให้หมด โดยการถามตัวเองไปเรื่อยๆ ว่าถ้าเป็นแบบนี้ได้ไหม? ได้ไม่ได้ ก็จดไว้หมด

เช่น อยากได้รายได้เดือนละ 1,000,000 บาท

แล้วถ้าต้องทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์หล่ะ?ได้ไหม?

ถ้าไม่ได้ แล้วต้องเป็นกี่วัน?

แล้วต้องเข้าออฟฟิศไหม?

ทำคนเดียวได้ไหม?

ถามไปเรื่อยๆ จะเริ่มชัดในเป้าหมายของเราเอง

.

พอพลอยชัดแล้ว ก็มาต่อที่ว่า ปลายทางที่เห็นนี้คือ time frame เท่าไหร่???

1 ปี, 3 ปี, 5 ปี อันนี้ขึ้นอยู่กับเราเลย

บางทีเราอาจจะตัดสินใจอะไรแบบ short-term มากเกินไป เราก็ต้องพยายามคิดถึงผลไกลๆด้วย แต่ละคนไม่เหมือนกัน Key คือการหา balance แหละว่าเราคิดแบบไหนอยู่ ต้องคิดทั้งสองแบบ

กฏ 10-10-10

มีกฏที่เรียกว่า 10-10-10 ที่เอามาใช้ในการตัดสินใจได้เช่นกัน

มันเป็นการตอบคำถามตัวเองว่า เราจะรู้สึกยังไงกับการตัดสินใจนี้ ในอีก 10 นาทีข้างหน้า ในอีก 10 เดือนข้างหน้า และ ในอีก 10 ปีข้างหน้า

.

พอชัดแล้ว ก็มาลงรายละเอียดเปรียบเทียบแต่ละ option ในแต่ละมุมกัน

พอมานั่งคิดดูดีๆ ข้อมูลที่พลอยพยายามใช้ในการเปรียบเทียบ มันลงมาเหลือแค่ 3 อย่างหลักๆ ซึ่งก็คือ

  1. Cost (trade-off) : เลือกเส้นทางนี้ต้องเสียอะไรไปบ้าง
  2. Risk : มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน? ยังไงบ้าง
  3. Benefit : ผลตอบแทนที่เราจะได้กลับมาคืออะไร?
ตัวอย่าง cost benefit risk

พอทำแล้วรู้สึกว่ามันยังไม่ค่อยกลม

ถ้าเกิดเราคิดรายละเอียดใน Cost,Benefit,Risk ไม่ได้หล่ะ?

.

พลอยก็เลยมานั่งคิดต่อ แล้วก็คิดถึงหลักการ หมวก 6 ใบที่เคยใช้สมัยทำ Product Management ก็เลยเอามาลองดู

6 Thinking Hat Framework คืออะไร?

โดยปกติแล้ว เวลาเราคิดอะไร เรามักจะมีไบแอสและคิดแค่ด้านที่เราถนัด ทำให้เราตัดสินใจได้ไม่ดี เพราะมองไม่ครบด้าน

ก็เลยมีหลักการที่เหมือนเอาเราไปอยู่ในมุมมองของคนอื่น โดยเป็นการใส่หมวกของคนอื่นดู เหมือนการที่เราลองคิดว่าถ้าเราไปปรึกษาเพื่อน เพื่อนจะตอบว่ายังไง

แต่หลักการ 6 หมวกนั้นคือมีการวาง character แล้วว่าแต่ละหมวกมีแนวคิดแบบไหน

  1. หมวกขาว (White Hat) - คุยเฉพาะข้อมูลและบนความเป็นจริง
  2. หมวกแดง (Red Hat) - คุยในมุมความรู้สึก เช่น ชอบ ไม่ชอบ โดยที่ไม่ต้องสนใจเรื่องเหตุผล
  3. หมวกเหลือง (Yellow Hat) - มองถึงโอกาสในแง่บวกที่สามารถเกิดขึ้นได้และพวกข้อดีต่างๆเมื่อเลือกหนทางนี้
  4. หมวกดำ (Black Hat) - คุยกันเรื่องข้อควรระวัง จุดที่มีความเสี่ยง ข้อเสีย อุปสรรคที่น่าจะเกิดขึ้นได้
  5. หมวดเขียว (Green Hat) - เป็นหมวกที่ใช้ความคิดสร้างสรรค คุยกันเรื่องอะไรใหม่ๆนอกกรอบที่มีอยู่ เพื่อให้ได้เห็นไอเดียใหม่ๆ หรือหนทางใหม่
  6. หมวกฟ้า (Blue Hat) - อันนี้เป็นหมวกปิดท้าย หรือเรียกว่าหมวก management หลังจากที่ได้ข้อมูลจากทุกหมวกแล้ว หมวดฟ้ามีหน้าที่ที่จะ structure ความคิดทั้งหมด ออกมาเป็น thought process และสรุป

ไว้มีโอกาสจะเขียนเรื่องนี้เต็มๆอีกที เพราะว่าดีเทลของแต่ละหมวกก็เยอะมากเหมือนกัน ที่แน่ๆเลยคือ เราชอบมองแค่ในมุมในมุมนึง

เพื่อเข้าใจตัวเองมากขึ้น ลองถามตัวเองดูว่า ปกติแล้วเราใส่หมวกสีอะไรมากที่สุด?

.

พอลองทำหมดนี้แล้ว จริงๆช่วยได้เยอะขึ้นเยอะมากๆ

มันเป็นการทำให้เห็นภาพมากขึ้นว่าแต่ละ option เป็นยังไง แล้วทำให้ตัดสินใจได้ดีขึ้น

แต่ขอเสริมอีกนิด มันมีทริคที่พลอยชอบ

เป็น Tricks ที่พลอยเอามาใช้ จากหนังสือเรื่อง DECISIVE ที่พลอยว่า practical ดี

  1. ลองมอง option เยอะๆดู โดยการลองถามตัวเองดูว่า เราจะทำยังไงถ้าตัวเลือกที่มีอยู่ทั้งหมดนี้หายไป
  2. ถ้าตัดสินใจไม่ได้ ลองคิดว่าถ้าเกิดเพื่อนมาปรึกษาสิ่งนี้กับเรา เราจะตอบไปว่ายังไง?
  3. ลองเรียงลำดับความสำคัญของ option ดู ตาม value ของเรา
  4. เปลี่ยนจากการถามตัวเองว่าทำไมต้องทำสิ่งนี้ เป็นทำไมเราต้องไม่ทำสิ่งนี้?

จริงๆหนังสือเล่มนี้มาหลายทริคนะ แต่เอามาเฉพาะที่พลอยเอามาลองใช้กับตัวเอง

.

ปล.จริงๆมันมีสูตรคำนวนที่สามารถเอามาใช้กับการตัดสินใจด้วย แต่ว่าอาจจะเนิร์ดไป และตัวพลอยเองก็ยังเชื่อว่าการตัดสินใจสุดท้ายแล้วมันก็ subjective ในระดับนึง

คิดแต่พอประมาณ อย่าเสียเวลามากเกินไปจะดีกว่า


ข้อควรระวังในการตัดสินใจ

การไม่ตัดสินใจ หรือการยื้อการตัดสินใจ เป็นเรื่องอันตราย

แน่นอนว่าเราควรต้องมีการคิดในการตัดสินใจใหญ่ๆ หรือไม่ด่วนตัดสินใจเกินไป แต่ในขณะเดียวกัน การที่เราไม่ยอมตัดสินใจ ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ

ทุกๆเรื่องที่เราต้องตัดสินใจนะ มีเวลาของมันอยู่ 🕝

พลอยค้นพบว่าการยื้อการตัดสินใจในเรื่องหลายๆเรื่อง จะทำให้เกิดผลเสียและกระทบต่อผลลัพท์ที่ควรจะเป็น เพราะมันเลยเวลาตัดสินใจแล้ว

Dr.K ช่อง healthyGamer

จากช่องของ Dr.K พลอยชอบมากที่เค้าบอกว่า

คนที่ Decisive -> อยู่ด้วย mindset ที่ว่าจะทำยังไงก็ได้ให้มันเวิร์ค ในขณะที่

คนที่ Indecisive -> จะโฟกัสในการเลือก the right choice

.

มีเรื่องนึงที่เค้าเล่า แล้วพลอยว่าเป็นตัวอย่างที่ดี

ผู้ชายคนนึง ตัดสินใจไม่ได้ ว่าจะแต่งงานกับผู้หญิงคนนี้ดีไหม? เลยยื้อไปเรื่อยๆ เพราะเค้าเป็นคน Indecisive กว่าจะถึงจุดที่เค้าตัดสินใจได้ กลายเป็นว่าผู้หญิงไม่รอแล้ว

น่าเศร้าก็คือ เค้าคิดว่า การที่เค้าเลือกผู้หญิงคนนี้เป็นสิ่งที่ผิด เพราะผู้หญิงทิ้งเค้าไป แต่จริงๆแล้วมันไม่ใช่การตัดสินใจที่ผิด แต่เป็นการรอการตัดสินใจต่างหากที่ผิด

*บางการตัดสินใจในชีวิตมันรอไม่ได้นะคะ*


ตัดสินใจเก่งอาจจะไม่พอ

ผลลัพท์ของการตัดสินใจ
อยู่ที่สิ่งที่เราทำหลังจากที่เราตัดสินใจต่างหาก

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พลอยสอนน้องๆตอนทำ Product ตลอด คือ

Make the right decision (ตัดสินใจให้ถูก) กับ Make the decision right (ทำให้การตัดสินใจนั้นถูก) มันคือคนละอย่างกัน

และการที่เราอยากจะได้ผลลัพท์ที่ดีนั้น มันก็ต้องทำทั้ง 2 อย่าง

.

.

ทุกคนชอบคิดว่า Decision Making คือการตัดสินใจว่าเราจะทำอะไร แต่จริงๆแล้วมันคือการตัดสินใจด้วยว่าเราจะไม่ทำอะไร

Making the right decision จริงๆมี 2 tasks

ตัวอย่าง "ตัดสินใจว่าจะลดความอ้วน"

จะลดความอ้วนได้ มี 2 อย่างที่ต้องทำ กิน healthy และ หยุดกินสิ่งที่ไม่ healthy

เพื่อให้ Decision ที่เลือกสำเร็จ ประกอบไปด้วย 2 tasks

  1. หยุดตัวเองจากความอยากกินเบอร์เกอร์ (ห้ามความอยาก)
  2. บังคับตัวเองกินสลัด (เลือกที่จะทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ)

สาเหตุที่คนรู้สึกว่าตัวเองยังวนๆอยู่ที่เดิม เพราะว่าเราไม่เคยโฟกัสในการแยก task ทั้งสองอย่างนี้ออกจากกัน เลยทำไม่สำเร็จ

.

.

บางทีเราอาจจะ Goal Focus ไป จนสนใจแต่ว่าเราจะเลือก The right decision ได้ยังไง ทั้งๆที่จริงๆแล้วสิ่งที่เราควรทำ หรือการเลี่ยงทำให้สิ่งที่ไม่ควรทำต่างหาก

.

.

สุดท้ายผลลัพท์มันเกิดจาก การลงมือทำมากกว่าอยู่แล้ว


บทสรุป

สุดท้ายนี้ ไม่มีใครเดาอนาคตได้ ผลลัพท์มันไม่ได้เกิดมาจากการตัดสินใจเท่านั้น

.

ถ้าย้อนกลับมาตอบน้องๆที่มาถามว่า "เราจะตัดสินใจยังไงดี?"

สิ่งที่อยากบอกกับน้องคนนั้นก็คือ

"ไปอ่านคอนเทนท์นี้ดูนะ" อะ ล้อเล่น 5555

คงบอกว่า "ถ้าคิดมาแล้วก็ตัดสินใจไปเถอะ ไม่มีใครรู้หรอกว่าสิ่งที่เราเลือกจะพาเราไปทางไหน ทำให้ดีที่สุดในขณะนั้นให้ได้ก็พอ"

พลอยเชื่อว่า สิ่งที่สำคัญจริงๆ คือการ ทำให้ดีที่สุด และยอมรับในทุกผลลัพท์ที่มันจะเกิดขึ้นโดยไม่โทษใคร ถ้าทำได้แค่นี้ ชีวิตจะมีความสุขขึ้นเยอะเลย

.

จริงๆเขียนเก็บไว้อ่านเองในระดับนึง

แต่หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่กำลังตัดสินใจอะไรในชีวิตอยู่นะ :)

.

.

ช่วงนี้กำลังอยู่ในช่วงตกผลึกตัวเอง ตกผลึก learning ที่ผ่านๆมา แล้วเอามาเขียนสรุป

ใครคิดว่าเป็นประโยชน์ฝากกด subscribe กันไว้ด้วยนะคับบบ